Home » » เกิดอะไรขึ้น เมื่อคนไทย “ร้อนตาย” นอนหัวใจวาย ไม่รู้ตัว

เกิดอะไรขึ้น เมื่อคนไทย “ร้อนตาย” นอนหัวใจวาย ไม่รู้ตัว

ช่วงนี้ไม่ว่าจะออกไปทางไหน ก็มีแต่คนบ่นถึงเรื่องอากาศร้อนจัด ร้อนราวนรก ที่แม้ว่าจะอยู่ในที่ร่ม ไม่มีเครื่องปรับอากาศก็ร้อนอบอ้าว จนบางพื้นที่มีคนตายแบบไม่รู้ตัว นี่คือภัยร้ายที่กำลังคร่าชีวิตคนไทยมานักต่อนัก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้แรงงาน ออกไปทำงานกลางแดดจ้า รู้หรือไม่ว่า หากไม่ระวังให้ดี ก็เสี่ยงที่จะสังเวยชีวิตเอาได้

เมษายน ช่วงเดือนอันตราย คลื่นความร้อนสลับกับลมพายุ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ต้องระวังเริ่องสุขภาพกันให้ดี บางจังหวัดความร้อนทะลุไป 43 องศาแล้ว อย่างที่ จ.แพร่ เมื่อช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา อุณหภูมิทะลุ 42 องศาฯ วันเดียวมีคนนอนตายในบ้านถึง 4 ศพ ส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน คือ มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หัวใจ โรคหืดหอบ ดื่มสุรา นำมาซึ่งอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน แม้จะอยู่ในที่ร่ม อันตรายจากความร้อนที่หลังคาสังกะสี ยิ่งทำให้เกิดความร้อนรุนแรง


ที่อันตรายคือ การนั่งอยู่ในรถที่อบไปด้วยไอร้อน อาจจะต้องตายเฉียบพลัน อย่างเช่นกรณีของ โชเฟอร์แท็กซี่ วัย 55 ปี นั่งรอให้หม้อน้ำหายร้อนอยู่ในรถ ผ่านไปครึ่งชั่วโมง กลับช็อคไปซะดื้อๆ กลายเป็นศพน้ำลายไหลยืด ทั้งที่ครอบครัวระบุ ผู้ตายเป็นคนแข็งแรง สุราไม่ดื่ม ไม่มีโรคประจำตัวแต่อย่างใด หรืออากาศประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงขึ้น เหตุใดจึงมีคนเสียชีวิตจากอากาศร้อนให้เห็นบ่อยขึ้น

มีหลายปัจจัยที่จะตอบคำถามข้างต้น จะว่าไปอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็มีส่วนสำคัญ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและมลภาวะ บวกกับสภาพร่างกาย และการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต คนสมัยนี้มักใช้ชีวิตอยู่ในห้องแอร์ เมื่อเจออากาศร้อนขึ้นมา ก็อาจจะปรับตัวไม่ทัน

หากร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณภูมิได้ 4 โรค ที่ควรระวัง คือ โรคลมแดด โรคเพลียแดด โรคตะคริวแดด และผิวหนังไหม้แดด ทางป้องกันคือ ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร ป้องกันโรคลมแดด เพราะอาจช็อกและเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธี ทั้งเปิดพัดลม สวมหมวกและเสื้อผ้าป้องกันไอแดด


นอกจากนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุ และคนอ้วน ต้องระวังอันตรายจากโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat stroke) ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดี หนุ่มสกลนครทำงานกลางแจ้งทั้งวัน กลับที่พักบ่นไม่หยุดว่าร้อน ปรากฏว่าตอนเช้านอนเสียชีวิตท่ามกลางเพื่อน คาดเป็นภาวะฮีทสโตรก

วิธีลดความเสี่ยงก็คือ ให้ดื่มน้ำชั่วโมงละประมาณ 1 ลิตร เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ไม่ให้สูงจนเกินไป ระวังเรื่องการอาบน้ำแร่ แช่น้ำร้อน แนะนำให้ค่อยๆเพิ่มอุณภมิอย่าเพิ่มทันทีทันใด เพราะร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน

สำหรับฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ต่อเนื่อง จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆจนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด ชัก หายใจเร็ว หมดสติ และช็อก หากมีอาการดังกล่าว ให้นอนราบ ยกเท้าสูง ผ้าซับบริเวณรักแร้ ขาหนีบ อย่าให้กัดลิ้นตัวเอง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้